23 เทคโนโลยีน่าจับตาในยุค 4.0


23 เทคโนโลยีน่าจับตาในยุค 4.0

คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย รัชดา เจียสกุล บ.โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย)

หลายคนสงสัย แต่ไม่กล้าบอกเพื่อนข้าง ๆ ว่าประเทศไทย 4.0 คืออะไร ? ดิฉันมีมุมมองส่วนตัวว่าประเทศไทย 4.0 เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ Industrial Revolution 4.0 (IR 4.0) แล้วการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี่คืออะไร ? ดิฉันอยากแนะนำหนังสือน่าอ่าน เขียนโดย Professor Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง World Economic Forum (WEF) ชื่อ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (The Forth Industrial Revolution)” แล้วท่านจะเริ่มตื่นเต้นกับคำว่าประเทศไทย 4.0 มากขึ้น
การปฏิวัติอุตสาหกรรม คือการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ซึ่งมีผลกระทบต่อมนุษย์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการติดต่อสื่อสาร โดยในอดีตที่ผ่านมานั้น ได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลกแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 มีการริเริ่มการใช้พลังงานไอน้ำในงานอุตสาหกรรม และเน้นการผลิตโดยเครื่องจักรกล ครั้งที่ 2 เป็นการเริ่มใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งทำให้สามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเป็นจำนวน มาก (mass production) และครั้งที่ 3 เป็นการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมด้วยระบบอัตโนมัติ จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทั้ง 3 ครั้งเหล่านั้น ส่งผลกระทบรวดเร็วรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งสิ้น
ทีนี้ในการ ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ มีเทคโนโลยีอะไรที่ต้องจับตามอง ? แทนที่จะเป็นเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งเหมือนการปฏิวัติอุตสาหกรรม 3 ครั้งก่อนหน้า ทาง WEF ได้นิยามการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ว่า เป็นการผสมผสานของเทคโนโลยี 3 กลุ่ม ที่กำลังเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจของผู้คน กล่าวคือ การผสมผสานเทคโนโลยีด้านกายภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยประเทศไทยควรทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเตรียมพร้อมรองรับการนำมาใช้ซึ่งเทคโนโลยีสำคัญ 23 ด้านดังนี้ 1) เทคโนโลยีการฝังตัว (implantable technologies) 2) การมีตัวตนทางดิจิทัล (our digital presence) 3) แว่นตาที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารได้ (vision as the new interface) 4) อินเทอร์เน็ตที่สวมใส่ได้ (wearable internet) 5) คอมพิวเตอร์ที่พบได้ทั่วไป (ubiquitous computing) 6) ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว (a supercomputer in your pocket)
7) พื้นที่จัดเก็บข้อมูลดิจิทัลสำหรับทุกคน (storage for all) 8) The Internet of Things (IOT) 9) บ้านที่เชื่อมต่อกับทุกอย่าง (the connected home) 10) เมืองอัจฉริยะ (smart cities) 11) ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการตัดสินใจต่าง ๆ (big data for decisions) 12) รถไร้คนขับ (driverless car) 13) ปัญญาประดิษฐ์และการตัดสินใจ (AI and decision-making) 14) ปัญญาประดิษฐ์และมนุษย์เงินเดือน (AI and white-collar jobs) 15) หุ่นยนต์และการให้บริการ (robotics and services) 16) bitcoin และ blockchain 17) เศรษฐกิจแบ่งปัน (the sharing economy) 18) รัฐบาลและ blockchain 19) การพิมพ์สามมิติ และการผลิต (3D printing and manufacturing) 20) การพิมพ์สามมิติและสุขภาพ (3D printing and human health)
21) การพิมพ์สามมิติและสินค้าอุปโภคบริโภค (3D printing and consumer products) 22) การออกแบบมนุษย์ (designer being) 23) เทคโนโลยีสมอง (neurotechnologies) พร้อมหรือไม่ก็ตาม เทคโนโลยีทั้ง 23 เทคโนโลยีนี้ จะเริ่มจับต้องได้มากขึ้น เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันเรามากขึ้น ราคาถูกลง และจะมีผลกระทบต่อการทำงาน การจ้างงาน และการใช้ชีวิตของเรามากขึ้น ช่องว่างระหว่างผู้ที่มีกับผู้ที่ไม่มี ผู้ที่ใช้กับผู้ที่ไม่ใช้ เทคโนโลยีเหล่านี้จะกว้างขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ดิฉันอยากให้คนไทยทุกคนทุกสาขา ได้รู้จักเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น ทราบถึงทั้งโอกาส และความท้าทายเพื่อเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมยุค 4.0 ได้ ที่แน่ ๆ ทักษะสำคัญที่จำเป็นสำหรับอนาคตอันใกล้นี้คือความสามารถในการเรียนรู้สิ่ง ใหม่ และการพัฒนาตนเองให้เปลี่ยนแปลงตาม disruption ใหม่ ๆ ได้ทัน
สำหรับ ปี 2018 นี้ ดิฉันขอแนะนำเทคโนโลยีที่มาถึงแล้ว และจะเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลง หวังว่าคนไทยจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ และสร้างพันธมิตรกับเจ้าของเทคโนโลยี รวมทั้งตระหนักรู้ถึงผลกระทบได้อย่างทันท่วงที ซึ่งมีอยู่ 5 เทคโนโลยี ได้แก่ 1) Internet of Thing (IOT) ที่จะเชื่อมโยงทุกสิ่งสู่โลกที่ไร้พรมแดน 2) Artificial Intelligence (AI) กับการก้าวสู่ยุคสมัยแห่งปัญญาประดิษฐ์ 3) advanced robotics ที่จะฉีกกรอบการผลิตยุคเก่า 4) enterprise wearables (Augmented Reality-Virtual Reality : AR, VR) ที่จะเปลี่ยนที่ทำงานให้กลายเป็นโลกดิจิทัล และ 5) 3D printing ที่จะสามารถสร้างอนาคตให้อยู่บนระนาบเดียว หากท่านผู้ประกอบการท่านใดได้เริ่มนำเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งใน 5 เทคโนโลยีนี้มาใช้ในธุรกิจของท่าน ก็น่าจะพอสบายใจได้ว่ามาถูกทาง แต่ถ้ายังไม่ได้คิดถึงเลย…
อยากขอร้องให้รีบสนใจนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น